ศอ.บต. ส่งเสริมอาชีพบริเวณชายฝั่งทะเล ให้เกิดการไหลเวียนของระบบเศรษฐกิจในชุมชน และแก้ไขปัญหาการว่างงานจากสถานการณ์โควิด-19




ศอ.บต. ส่งเสริมอาชีพบริเวณชายฝั่งทะเล ให้เกิดการไหลเวียนของระบบเศรษฐกิจในชุมชน และแก้ไขปัญหาการว่างงานจากสถานการณ์โควิด-19

 จ.ปัตตานี ประกอบด้วย พื้นที่ราบชายฝั่งทะเล ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ประมาณ ๑ ใน ๓ ของจังหวัด โดยอำเภอที่มีบริเวณติดทะเลประกอบด้วย อ.หนองจิก อ.เมือง อ.ยะหริ่ง อ.ปะนาเระ อ.สายบุรี และ อ.ไม้แก่น เป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ในด้านทรัพยากรทางทะเลเป็นอย่างมาก ซึ่งพี่น้องประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมง
สำหรับพื้นที่ ต.ตันหยงลุโละ และ ต.บาราโหม ตั้งอยู่ที่ อ.เมือง จ.ปัตตานี เป็นพื้นที่ที่ติดบริเวณชายฝั่งทะเล ชาวบ้านในพื้นที่บริเวณดังกล่าวมีความต้องการที่จะอนุรักษ์พื้นที่ตรงนี้ให้คงอยู่ เนื่องจากเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ รวมทั้งเป็นแหล่งอาหารที่สามารถสร้างรายได้ให้กับคนในพื้นที่มาตั้งแต่อดีตจึงได้เสนอโครงการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงหอยแครง ต.ตันหยงลุโละ และ โครงการส่งเสริมอาชีพเลี้ยงปูดำนำร่องในบ่อนากุ้งร้าง ต.บาราโหม เข้าที่ประชุมสภาสันติสุขตำบลและได้รับเลือกให้เข้าร่วมโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับหมู่บ้าน ชุมชนและตำบลในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ของ ศอ.บต.
นายแวยูโซ๊ะ มะรอแม ผู้ใหญ่บ้าน ม.2 ต.ตันหยงลุโละ อ.เมือง จ.ปัตตานี เล่าว่า การเลี้ยงหอยแครงเป็นอาชีพเดิมของพี่น้องชาวตันหยงลุโละอยู่แล้ว เมื่อถึงคราวประชุมประชาคมหมู่บ้าน ชาวบ้านได้เสนออยากให้มีการส่งเสริมการเลี้ยงหอยแครงอยู่ตลอด จึงได้เสนอโครงการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงหอยแครง เข้าที่ประชุมสภาสันติสุขตำบลและเกิดโครงการนี้ขึ้นตามความต้องการของชาวบ้าน ปัจจุบันชาวบ้านจะเก็บหอยไปขายได้วันละ 200-300 บาท ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมในแต่ละวัน ในอนาคตมีความคาดหวังว่า จำนวนหอยแครงในทะเลจะมีเพิ่มมากขึ้น และขยายสมาชิกกลุ่มให้มีมากขึ้นด้วย ประกอบกับ สถานการณ์โควิด-19 ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานไทยที่ทำงานในมาเลเซียต้องเดินทางกลับภูมิลำเนา ทำให้เกิดการว่างงาน โครงการนี้จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการทำให้ประชาชนในพื้นที่มีอาชีพ มีรายได้
               ในส่วนของ ต.บาราโหม อ.เมือง จ.ปัตตานี ซึ่งเมื่อ 25 ปีก่อน เกิดปัญหาการกว้านซื้อที่ดิน เพื่อทำบ่อนากุ้งของนายทุน ส่งผลให้มีบ่อนากุ้งร้างในพื้นที่กว่า 100 บ่อ ชาวบ้านเห็นว่าควรใช้บ่อนากุ้งร้างให้เป็นประโยชน์ จึงได้มีการเสนอ โครงการส่งเสริมอาชีพเลี้ยงปูดำนำร่องในบ่อนากุ้งร้าง เข้าที่ประชุมสภาสันติสุขตำบล เพื่อส่งเสริมอาชีพ และปรับสภาพพื้นที่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิง  นวัตวิถี รวมทั้งเป็นหนึ่งในแนวทางแก้ไขปัญหาภายหลังเกิดสถานการณ์โรคระบาดโควิด 19 ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อประชาชนที่ประกอบอาชีพทำร้านอาหารในประเทศมาเลเซีย ซึ่งต้องทยอยเดินทางกลับ และเกิดปัญหาว่างงาน

นายอูเซ็ง เบญนูรุดดีน กำนัน ต.บาราโหม อ.เมือง จ.ปัตตานี เล่าว่า ขณะนี้ได้มีการนำร่องไปแล้วบ่อแรก เพื่อทำเป็นตัวอย่างแก่คนในชุมชนที่มีบ่อนากุ้งร้างให้มาเลี้ยงปูดำ ซึ่งดำเนินการภายใต้โครงการส่งเสริมอาชีพเลี้ยงปูดำนำร่องในบ่อนากุ้งร้างที่เสนอผ่านสภาสันติสุขตำบล โดยมีกลุ่มอนุรักษ์ประมงพื้นบ้านนำร่องเป็นกลุ่มแรก เพื่อเสริมรายได้ให้กับชุมชน ครอบครัว รวมทั้งฟื้นฟูสภาพแวดล้อมบริเวณชายฝั่งควบคู่กันไป โดยการเลี้ยงปูดำใช้ระยะเวลาไม่นานและเป็นที่ต้องการของตลาดทำให้พี่น้องกลุ่มที่เลี้ยงปูดำสามารถนำไปขายออกสู่ท้องตลาดได้ และในอนาคตมีแผนที่จะให้กลุ่มที่เลี้ยงปูดำมีความเข้มแข็งในเรื่องขององค์ความรู้ทางวิชาการและแนวคิดต่างๆ เพื่อนำมาพัฒนาต่อยอดให้ปูสามารถส่งออกไปสู่ท้องตลาดได้มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม การส่งเสริมให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นกลไกหนึ่งที่ ศอ.บต. ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับหมู่บ้าน ชุมชนและตำบลในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยขับเคลื่อนผ่านการพิจารณาของสภาสันติสุขตำบล ซึ่งมีการทำงานในรูปแบบของคณะทำงานจากหลายภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ท้องถิ่น ผู้นำศาสนาและภาคประชาชน โดยร่วมกันพิจารณาเพื่อแก้ไขปัญหาและตอบสนองความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง ให้ประชาชนร่วมคิดร่วมทำ ทำให้สามารถแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด เกิดการไหลเวียนของระบบเศรษฐกิจในชุมชน ส่งผลให้พี่น้องประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

























ข่าว/อามีเนาะ อุเซ็ง ภาพข่าว/อานาวิน เจ๊ะมะ ส่วนงานประชาสัมพันธ์ ศอ.บต.
ศูนย์ข่าวใต้สันติสุข
 
เว็บสำเร็จรูป
×